วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

เตรียมสอบ ป.1 - (สังคมศึกษา) สาระที่ 1 ศาสนา และวัฒนธรรม

เตรียมสอบ ป.1 - (สังคมศึกษา) สาระที่ 1 ศาสนา และวัฒนธรรม


Download - เนื้อหา






สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม






1.   พุทธประวัติ
     พระพุทธเจ้า เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางสิริมหามายา มีพระนามเดิมว่า สิทธัตถะ ประสูติในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ใต้ต้นสาละ ที่สวนลุมพิรีวัน (ประเทศเนปาลในปัจจุบัน) เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธรา หรือพิมพา มีพระโอรสพระองค์หนึ่ง นามว่า ราหุล แปลว่า บ่วง

     เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวชเมื่อพระชนมายุ 29 พรรษา และตรัสรู้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ เรียกว่า อริยสัจ
     พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่พระศาสนาเป็นเวลา 45 ปี จึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา ประเทศอินเดีย ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ขณะพระชนมายุ 80 พรรษา


2.  ประวัติพุทธสาวก
สามเณรบัณฑิต
สามเณรบัณฑิตเกิดในตระกูลอุปัฏฐากของพระสารีบุตร มารดาของท่านแพ้ท้องอยากจะถวายอาหารแด่พระสารีบุตรพร้อมทั้งพระภิกษุประมาณ 500 รูป เมื่อได้กระทำตามนั้นแล้ว อาการแพ้ท้องก็หายไป

เมื่ออายุได้ 7 ขวบ ท่านบรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาแล้ว ได้ไปบิณฑบาตกับพระสารีบุตร ระหว่างทางเดิน ท่านได้เห็นคนชักน้ำเข้านา คนกำลังถากไม้ทำล้อเกวียน และคนกำลังใช้ไฟลนเพื่อดักลูกศร ตามลำดับ จึงเกิดความสงสัย และคิดเปรียบเทียบกับจิตใจของคนว่า ทุกอย่างสามารถบังคับได้ เหตุใดจึงไม่สามารถบังคับจิตใจให้อยู่ในอำนาจได้ เมื่อกลับถึงวัดท่านได้นั่งปฏิบัติธรรมในเรื่องที่พบเห็น จนกระทั่งบรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์

คุณธรรมของสามเณรบัณฑิตที่ถือเป็นแบบอย่าง คือ การเป็นคนช่างสังเกต ที่เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวแล้วนำมาคิดจนเกิดปัญญา


3.  ชาดก
ชาดก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าที่เกิดมาในชาติก่อน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงใช้ในการสั่งสอนพระภิกษุ และชาวพุทธ เพื่อเป็นข้อคิดในการปฏิบัติตน ชาดกที่สำคัญที่ควรรู้ในชั้นนี้ ได้แก่

1) วัณณุปถชาดก : ความเพียร ไม่เกียจคร้าน ณ เมืองพาราณสี มีพ่อค้า และบริวารบรรทุกสินค้าไปค้าขายยังต่างเมืองเป็นประจำ โดยต้องเดินทางข้ามทะเลทรายเป็นระยะทางถึง  10 โยชน์ ในการเดินทางนั้น จะเดินทางเฉพาะกลางคืน โดยมีผู้นำทางเป็นผู้บอกทิศทาง กลางวันก็จะหยุดพักผ่อน คืนหนึ่งผู้นำทางเผลอหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย ทำให้กองเกวียนเดินผิดทาง หวนกลับมาที่เดิม เมื่อพ่อค้าและบริวารรู้ว่าเดินทางมาที่เดิมทุกครั้ง ต่างก็หมดเรียวแรงและหมดกำลังใจ เนื่องจากน้ำและฟืนที่เตรียมไว้หมดลงพอดี แต่พ่อค้าก็ให้กำลังใจบริวารและไม่ละความพยายามในการหาน้ำ จึงได้สำรวจบริเวณที่พักโดยรอบ จนพบหญ้าแพรกกอหนึ่งที่งอกงามเขียวสด จึงฉกคิดได้ว่า บริเวณกอหญ้านี้จะต้องมีน้ำอยู่ข้างล่างแน่นอน จึงได้ระดมกันขุดพื้นทรายใต้กอหญ้าจนลึกถึง 60 ศก แต่ยังไม่พบน้ำ เหล่าบริวารต่างพากันหมดหวัง แต่พ่อค้าไม่ละความพยายาม ลองแนบหูฟังที่พื้นหิน ได้ยินเสียงน้ำไหลอยู่เบื้องล่าง จึงบอกคนรับใช้คนสนิทให้เอาค้อนเหล็กทุบหินจนแตกและมีลำน้ำพุ่งขึ้นมา ทุกคนต่างดีใจเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ที่ได้น้ำมาดื่มกิน จากนั้นจึงออกเดินทางจนถึงจุดหมาย
คติธรรมที่ได้จากชาดกเรื่องนี้ คือ บุคคลจะประสบผลสำเร็จและรอดพ้นจากทุกข์ภัยพิบัติต่าง ๆ ได้ ก็เพราะความเพียรพยายาม

2) สุวัณณสามชาดก : การบำเพ็ญเมตตาบารมีและความกตัญญู สุวัณณสามเป็นบุตรของฤๅษีที่อาศัยกลางป่าแห่งหนึ่ง สุวัณณสามเป็นเด็กที่มีความกตัญญู เชื่อฟังบิดามารดา และมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ จึงมีบรรดาสัตว์ป่าเป็นมิตร ต่อมา บิดามารดาของสุวัณณสามถูกงูพ่นพิษใส่ตาจนตาบอด สุวัณณสามจึงต้องปรนนิบัติดูแลบิดามารดา โดยคอยหาน้ำดื่มน้ำใช้และผลไม้ในป่ามาเลี้ยงดูบิดามารดาทุกวัน
ต่อมา มีพระราชาองค์หนึ่งนามว่า ท้าวปิลยักขราช เสด็จมาล่าสัตว์ในป่า และได้ยิงลูกศรอาบยาพิษถูกสุวัณณสามจนเสียชีวิต แต่ก่อนที่จะเสียชีวิตนั้น สุวัณณสามได้บอกกับท้าวปิลยักขราชว่าตนเองมีบิดามารดาที่ตาบอดที่ต้องเลี้ยงดู เมื่อตนเองตายไป ก็รู้สึกห่วงบิดามารดาว่าใครจะเลี้ยงดูต่อจากตน เมื่อท้าวปิลยักขราชเห็นถึงความกตัญญูต่อบิดามารดาของสุวัณณสาม พระองค์จึงรับปากจะเลี้ยงดูให้ เมื่อฤๅษีทั้งสองรู้ว่า สุวัณณสามเสียชีวิตก็ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า สุวัณณสามเป็นคนดี มีความเมตตากรุณา และมีความกตัญญูต่อบิดามารดา ขอให้ความดีนั้นดลให้ยาพิษในร่างกายของสุวัณณสามหายไป และฟื้นคืนชีวิตเถิด ด้วยแรงตั้งจิตอธิษฐานดังกล่าว ทำให้สุวัณณสามฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา รวมทั้งฤๅษีทั้งสองก็หายตาบอดด้วย ท้าวปิลยักขราชรู้สึกประหลาดใจมาก จึงตรัสว่า คนที่เลี้ยงดูบิดามารดา เทวดาก็ช่วยอุปถัมภ์ให้หายจากโรคได้” จากนั้น สุวัณณสามจึงทูลขอคำมั่นสัญญาจากท้าวปิลยักขราชว่าจะไม่เบียดเบียนทำร้ายสัตว์อีก ท้าวปิลยักขราชให้คำมั่นสัญญาและขอโทษสุวัณณสามที่ทำให้เดือดร้อน แล้วจึงเสด็จกลับ ส่วนสุวัณณสามได้เลี้ยงดูบิดามารดาและบำเพ็ญเพียรภาวนาต่อไป
คติธรรมที่ได้จากชาดกเรื่องนี้ คือ ความเมตตากรุณาของสุวัณณสามที่มีต่อคนและสัตว์ทั่วไป ความรักและความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ความรักระหว่างพ่อแม่ลูก และการรู้จักให้อภัยไม่โกรธตอบ ส่งผลให้เรื่องร้ายกลายเป็นเรื่องดีได้


4.  ชาวพุทธตัวอย่าง
พุทธศาสนิกชน หมายถึง ชาวพุทธที่ประพฤติปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอนเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ควรยกย่อง พุทธศาสนิกชนที่ควรรู้ในชั้นนี้ ได้แก่

1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทั้งชาติ ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงอุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนา นอกจากนี้พระองค์จึงเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านความกตัญญูกตเวทีที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง

2) เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หมูพร้อม ณ นคร) เป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ก่อนที่จะได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ท่านเคยบวชเป็นพระสงฆ์ที่วัดพิชัยญาติการาม กรุงเทพฯ คืนหนึ่งขณะที่ท่านได้สวดมนต์ในกุฏิ ได้มีคนร้ายลอบยิงท่าน เป็นเป็นขณะที่ท่านกำลังก้มกราบพระพอดี ท่านจึงไม่ถูกกระสุนปืน การที่ท่านปลอดภัยในครั้งนี้ เป็นเพราะอานิสงส์ของการสวดมนต์ ความดีจึงคุ้มครองท่าน

5.  พระรัตนตรัย
รัตนะ แปลว่า แก้วอันประเสริฐ ตรัย แปลว่า สาม พระรัตนตรัย จึงแปลว่า แก้วอันประเสริฐ 3 ประการ ได้แก่
1)   พระพุทธ คือ พระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
2)  พระธรรม คือ หลักคำสอนของพระพุทธเต้าที่มุ่งสอนให้คนทำความดี ละเล่นความชั่ว
3)  พระสงฆ์ คือ ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือชายที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป ซึ่งบวชและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

ศรัทธา คือ ความเชื่อ ประกอบด้วย เหตุผลคู่กับประสาทะ (ความเลื่อมใส) ดังนั้น ศรัทธาในพระรัตนตรัย จึงหมายถึง ความเชื่อ ความเลื่อมใส คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์


6.  พุทธศาสนสุภาษิต
สุภาษิต หมายถึง คำพูดที่เป็นคติสอนใจ ถ้าเป็นคำพูดที่เป็นคติสอนใจในพระพุทธศาสนา เรียกว่า พุทธศาสนสุภาษิต ซึ่งพุทธศาสนสุภาษิตที่เรียนในชั้นนี้ มี 2 หัวข้อ ได้แก่
1)   อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ (อ่านว่า อัด – ตา – หิ – อัด – ตะ – โน – นา – โถ) แปลว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หมายความว่า เราจะต้องพึ่งตนเอง คือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ไม่คอยให้ผู้อื่นทำให้ เพราะผู้อื่นไม่สามารถที่จะให้เราพึ่งตลอดเวลาได้
2)  มาตา มิตฺตํ สเก ฆเร (อ่านว่า มา – ตา – มิด – ตัง – สะ – เก – คะ – เร) แปลว่า มาตดาเป็นมิตรในเรือนของตน หมายความว่า มารดา (แม่) เปรียบเสมือนมิตรในเรือน เพราะแม่เป็นผู้มีไมตรีหรือมีเมตตาต่อลูก คอยให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา คอยช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาแก่ลูก เป็นเหมือนเพื่อนที่อยู่ในบ้าน


7.  หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตนของชาวพุทธให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่มากมาย แต่หลักธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาท 3 ได้แก่ ละเว้นความชั่ว การทำความดี และการทำจิตใจให้ผ่องใส โดยมีหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) ละเว้นการทำความชั่ว หลักธรรมที่เกี่ยวข้อง คือ เบญจศีล หรือ ศีล 5 ซึ่งเป็นข้อห้าม หรือข้อควรละเว้น 5 ข้อ ได้แก่ การไม่ทำร้ายผู้อื่น การไม่ลักทรัพย์ การไม่ประพฤติผิดในกาม การไม่พูดโกหก และการไม่ดื่มสุรา หรือเสพสารเสพติด

2) การทำความดี หลักธรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
(1)  เบญจธรรม คือ หลักความดีที่ควรทำ 5 ประการ ได้แก่ การมีเมตตา กรุณา การประกอบอาชีพสุจริต การยินดีในคู่ครองของตน การพูดความจริง และการมีสติ ไม่ประมาท
(2)  สังคหวัตถุ คือ หลักในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น มี 4 ข้อ ได้แก่
(2.1) ทาน คือ การให้ การแบ่งปัน การเสียสละของตนเองแก่ผู้อื่น
(2.2) ปิยวาจา คือ การพูดจาสุภาพ ไพเราะอ่อนหวาน และพูดแต่สิ่งที่มีประโยชน์แก่ผู้ฟัง
(2.3) อัตถจริยา คือ การทำตนให้เป็นประโยชน์ และช่วยเหลือผู้อื่น เช่น ช่วยล้างจาน ปัดกวาด เช็ดถูบ้าน ช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียน เก็บขยะบริเวณโรงเรียน เป็นต้น
(2.4) สมานัตตา คือ การประพฤติตนเป็นคนดีเสมอต้นเสมอปลาย เช่น ทำตัวน่ารักทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยไม่เอาเปรียบ แสดงความเคารพผู้ใหญ่ด้วยการไหว้ ทักทายเพื่อน ๆ เมื่อพบกันทุกครั้ง เป็นต้น
(3) กตัญญูกตเวที กตัญญู แปลว่า รู้คุณของคนอื่น กตเวที แปลว่า ตอบแทนผู้มีคุณแก่ตน ดังนั้น คำว่า กตัญญูกตเวที จึงหมายถึง การรู้คุณของคนอื่น แล้วทำการตอบแทนผู้มีพระคุณ ซึ่งการตอบแทนพระคุณพ่อแม่ หรือคนในครอบครัว ที่สามารถกระทำได้ เช่น เคารพเชื่อฟังท่าน ช่วยงานบ้าน ปรนนิบัติท่าน ตั้งใจเรียนหนังสือ ไม่ทำความเสื่อมเสียให้กับวงศ์ตระกูล เป็นต้น
(4)  มงคล 38 มงคล คือ ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญและความก้าวหน้าของชีวิต มีทั้งหมด 38 ประการ มงคลที่เราควรรู้จัก คือ
(4.1) ทำตัวดี หมายถึง การตั้งมั่นในการทำความดี เช่น ตั้งใจเรียน รู้จักแบ่งปัน เชื่อฟังผู้ใหญ่ ซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร เป็นต้น
(4.2) ว่าง่าย หมายถึง การเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ ครู อาจารย์ หรือผู้ปกครอง ไม่ดื้อรั้น ไม่โกรธเมื่อถูกตักเตือน และปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ
(4.3) รับใช้พ่อแม่ หมายถึง การคอยปรนนิบัติดูแลช่วยเหลือพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด เช่น ช่วยงานบ้าน คอยดูแลยามเจ็บไข้ หาน้ำให้ท่านดื่ม เป็นต้น

     3) การทำจิตใจให้ผ่องใส ทำได้โดยการไม่คิดร้ายกับผู้อื่น ไม่โกรธง่าย โมโหง่าย ไม่คิดแค้นคนที่ทำไม่ดีกับเรา หากปฏิบัติตนตามโอวาท 3 เกี่ยวกับการทำความดี และละเว้นการทำความชั่วแล้ว ก็จะส่งผลให้จิตใจผ่องใสได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การสวดมนต์ไหว้พระ ก็เป็นการฝึกให้มีจิตใจผ่องใสเช่นกัน

8.  การบริหารจิต และเจริญปัญญา
การบริหารจิต คือ การฝึกควบคุมจิตให้มีสมาธิ ส่วน การเจริญปัญญา คือ การพัฒนาปัญญาให้รู้ลึก รู้รอบ และรู้จริง ซึ่งการบริหารจิตและเจริญปัญญา สามารถกระทำได้หลายวิธี เช่น การสวดมนต์ และแผ่เมตตา การทำสมาธิ การฝึกให้มีสติในการฟัง การอ่าน การพูด การถาม และการเขียน เป็นต้น
การสวดมนต์และแผ่เมตตา เป็นวิธีการเบื้องต้นในการฝึกควบคุมจิตใจให้มีสมาธิ นักเรียนควรฝึกสวดมนต์ และแผ่เมตตาก่อนนอน หรือก่อนเรียนหนังสือ หรือหลังเลิกเรียนเป็นประจำ ขั้นตอนการสวดมนต์และแผ่เมตตา มีดังนี้
1)   นั่งคุกเข่า ประนมมือ ตั้งจิตให้สงบ
2)  กล่าวคำสวดมนต์ (คำบูชาพระรัตนตรัย) ดังนี้
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา
พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ. (กราบ)
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
ธัมมัง นะมัสสามิ. (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สังฆัง นะมามิ. (กราบ)
3)  เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ให้นั่งขัดสมาธิ มือวางบนตัก หลับตา และเตรียมแผ่เมตตา ถ้ายืนสวดมนต์ ให้ประนมมือ หลับตา และเตรียมแผ่เมตตา
4) เริ่มแผ่เมตตา โดยตั้งจิตว่า ขอให้สรรพสัตว์ (สิ่งมีชีวิตทั้งปวง) จงมีแต่ความสุข ปราศจากความทุกข์ ความเดือดร้อน ตลอดกาลนานเทอญ หรือกล่าวคำแผ่เมตตาว่า สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ อัพยาปัชฌา โหนตุ อะนีฆา โหนตุ สุขีอัตตานัง ปะริหะรันตุ” หรืออาจกล่าวคำแผ่เมตตาพร้อมคำแปลด้วยก็ได้
5) เมื่อแผ่เมตตาเสร็จแล้ว ให้ยกมือไหว้สาธุในใจ


9.  สติสัมปชัญญะและสมาธิ
สติ หมายถึง ความระลึกได้ ก่อนที่จะคิด พูด หรือทำ
สัมปชัญญะ หมายถึง ความรู้ตัว ไม่เผลอ รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไร โดยใช้ปัญญาในการพิจารณาควบคุม
สมาธิ หมายถึง การทำจิตใจให้ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ
การเจริญสติ และสมาธิ หมายถึง การฝึกจิตให้มีสติ ระลึกได้ตลอดเวลา และการทำจิตใจให้มีสมาธิ ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน ซึ่งมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งด้านการทำงานและเป็นผู้มีบุคลิกเข้มแข็ง หนักแน่น ความมั่นคงในอารมณ์ และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาปัญญาให้มีความรอบรู้ แยกแยะชั่วดีได้


10.   ศาสนพิธี
ศาสนพิธี หมายถึง พิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งพุทธศาสนิกชนที่ดีควรศึกษาให้เข้าใจ เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติได้ถูกต้องต่อไป ศาสนพิธีที่สำคัญในชั้นนี้ ได้แก่

1) บำเพ็ญประโยชน์ต่อวัด วัดเป็นแหล่งความรู้ทางพระพุทธศาสนา และเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังพระเทศน์ เวียนเทียน เป็นต้น นอกจากนี้ วัดยังมีสิ่งที่ใช้สักการะเคารพแทนองค์พระพุทธเจ้า เช่น พระพุทธรูป ที่เรียกว่า ศาสนวัตถุ ด้วย ดังนั้น วัดจึงเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา การบำเพ็ญประโยชน์ต่อวัดมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
·      ดูแลทำความสะอาดวัดเสมอ เพื่อจะได้ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
·      ดูแลความสะอาดบริเวณรอบ ๆ วัด โดยเก็บกวาดขยะ ใบไม้ ตามโอกาส
·      ไม่ทิ้งขยะบริเวณวัด
·      ปลูกต้นไม้ภายในวัดให้ร่มรื่นสวยงาม
·      ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสร้างศาสนสถาน ศาสนวัตถุ หรือบริจากค่าน้ำค่าไฟแก่วัด ตามกำลังศรัทธา

2) การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คือ การประกาสตนว่าจะยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา โดยจะน้อมรับพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกของตน ผู้ที่จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะต้องมีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป โดยครูหรือผู้ปกครองจะพาไปแสดงตนเป็นพุทธมามกะที่วัด หรืออาจนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีที่โรงเรียนก็ได้
การแสดงตนเป็นพุทธมามกะมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
·      ไปหาพระสงฆ์ผู้ที่ทำพิธีนัดหมาย
·      จุดธูปเทียน บูชาพระ
·      กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย
·      กล่าวคำแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
·      กล่าวคำขอศีลและรับศีล
·      พระสงฆ์ให้โอวาท
·      นักเรียนรับพรจากพระสงฆ์ เป็นอันเสต็จพิธี
  

11.  วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนควรจะน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย และควรประกอบคุณงามความดีมากเป็นพิเศษ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า ได้แก่
1) วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันนี้มีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนที่จะต้องระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยมีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกัน 3 เหตุการณ์ คือ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ที่เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 เหมือนกัน จึงถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธ
2) วันมาฆบูชา เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เดินทางไปเผยแผ่พระธรรมยังดินแดนต่าง ๆ ซึ่งมีผู้เลื่อมใสขอบวชเป็นจำนวนมาก ครั้นถึงวันเพ็ญ เดือน 3 บรรดาพระสงฆ์ต่างระลึกถึงพระพุทธองค์ จึงเดินทางมาเฝ้า วันนี้จึงมีความสำคัญ ดังนี้
·      เป็นวันที่พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาชุมนุมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย
·      พระสงฆ์เหล่านั้น ล้วนเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้
·      พระสงฆ์เหล่านั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
·      เป็นวันเพ็ญเดือน 3 และพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมชื่อ โอวาทปาติโมกข์ หรือเรียกอีกอย่างว่า โอวาท 3

ชาวพุทธถือว่า วันมาฆบูชา เป็นวันประกาศพระธรรมสำคัญ จึงถือว่าวันนี้เป็นวันพระธรรม

3) วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญที่ชาวพุทธทำประกอบพิธีเพื่อระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก เนื่องจากเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ก็ทรงพิจารณาที่จะเผยแผ่พระธรรมที่ค้นพบ จึงนึกถึงอาฬารดาบส และอุททกดาบสผู้เป็นอาจารย์ แต่ทราบว่าเสียชีวิตแล้ว พระองค์จึงไปเทศนาโปรดปัญจวคีย์ที่เคยรับใช้พระองค์ในวันเพ็ญเดือน 8 ซึ่งเป็นการแสดงธรรมครั้งแรก เรียกว่า ปฐมเทศนา พระธรรมที่ทรงแสดง ชื่อ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เมื่อปัญจวัคคีย์เข้าใจพระธรรมของพระพุทธเจ้าก็ขอบวชเป็นพระสงฆ์ โดยโกณฑัญญะเป็นพระสงฆ์รูปแรกในโลก วันนี้จึงถือเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
จากการที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ชาวพุทธจึงถือว่าวันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระสงฆ์

4) วันอัฏฐมีบูชา ครั้นพระพุทธเจ้าปรินิพพนานในวันเพ็ญเดือน 6 แล้ว เหล่ามัลละกษัตริย์แห่งกรุงกุสินาราได้จัดการตั้งพระพุทธสรีระไว้ให้พุทธศาสนิกชนสักการบูชาเป็นเวลา 7วัน ครั้นถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 จึงจัดพิธีถวายพระเพลิง จึงเรียกวันนี้ว่า วันอัฏฐมีบูชา ดังนั้น เราจึงถือวันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง

การปฏิบัติตนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ชาวพุทธควรปฏิบัติตนและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นพุทธบูชาในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังนี้
1) ทำบุญตักบาตร หรือให้ทานอื่น ๆ ไถ่ชีวิตโค กระบือ ปล่อยนกปล่อยปลา บริจาคโลหิต เป็นต้น
2)  ฟังธรรมที่วัด หรือทางวิทยุ โทรทัศน์
3)  รักษาศีล 5 หรือศีล 8 ตามความเหมาะสม
4) ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วยการฝึกสมาธิ
5) บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดวัด เป็นต้น

6) นำดอกไม้ธูปเทียนไปเวียนเทียนที่วัดหรือสถานที่ที่กำหนด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น