Download - เนื้อหา
สาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์
|
1. สินค้าและบริการ
สินค้าและบริการที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ดินสอ ยางลบ สมุด หนังสือเรียน ไม้บรรทัด ยาสีฟัน เราเรียกสินค้าเหล่านี้ว่า สินค้าที่จำเป็น เพราะเราจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนสินค้าที่ไม่จำเป็นในการดำรงชีวิตแต่เป็นสิ่งของที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย หรือเป็นสิ่งที่เราอยากได้ เรียกว่า สินค้าที่ตอบสนองความต้องการ เช่น ของเล่น กำไล โทรศัพท์ราคาแพง เป็นต้น
ประเภทสินค้า และบริการ สามารถแบ่งตามวิธีการได้มา ดังนี้
1) สินค้าและบริการที่ได้มาโดยไม่ใช้เงิน คือ มีผู้ให้ หรือการใช้ของแลกของ หรือประดิษฐ์ขึ้นเอง เช่น แม่ยกของเล่นให้ พี่เอาชุดนักเรียนตัวเก่าให้ การให้ยางลบ เพื่อเพื่อแลกกับดินสอ การสานตะกร้าเองด้วยไม้ไผ่ เป็นต้น
2) สินค้าและบริการที่ได้มาจากการใช้เงินซื้อ เช่น ซื้อขนม ซื้อกับข้าว ซื้อชุดนักเรียน ซื้ออุปกรณ์การเรียน จ่ายค่าโทรศัพท์ จ่ายค่ารถโดยสาร เป็นต้น
สินค้า และบริการที่นักเรียนใช้ในชีวิตประจำวัน ให้คำนึงถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ประโยชน์คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด แม้สินค้าและบริการนั้นจะได้มาโดยไม่ใช้เงิน หรือได้มาจากการใช้เงินซื้อก็ตาม
2. การทำงานอย่างสุจริต
การทำงาน หมายถึง การทำภารกิจ หรือหน้าที่ของตนเอง เช่น ล้างจาน ทำความสะอาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น หากงานที่ทำก่อให้เกิดรายได้ เราเรียกว่า การประกอบอาชีพ ซึ่งหลักสำคัญที่ควรคำนึงในการประกอบอาชีพ คือ ต้องประกอบอาชีพที่ไม่ผิดกฎหมาย และศีลธรรมของสังคม จึงจะเป็นการทำงานอย่างสุจริต
การทำงานแบ่งออกเป็น
1) การทำงานที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น
- งานรับราชการ เช่น ทหาร ตำรวจ ครู หรือข้าราชการสังกัดหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เป็นต้น ผู้มีอาชีพนี้จะมีรายได้ที่รับจากรัฐ เรียกว่า เงินเดือน
- งานเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ทำประมง เป็นต้น ผู้มีอาชีพเหล่านี้จะมีรายได้จากการขายผลผลิตที่ตำทำหรือหามาได้
- งานค้าขาย ได้แก่ พ่อค้า แม่ค้า พ่อค้าคนกลาง ผู้มีอาชีพนี้จะมีรายได้จากการขายสินค้าที่หักลบกับต้นทุน เรียกว่า กำไร
- งานบริการ เช่น ช่างตัดผม ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า รับจ้างซักรีด ขับรถแท็กซี่ เป็นต้น ผู้มีอาชีพนี้จะมีรายได้จากผู้รับบริการ เรียกว่า ค่าจ้าง
- งานลูกจ้าง เช่น พนักงานโรงแรม พนักงานขับรถโดยสารประจำทาง พนักงานบริษัทเอกชน เป็นต้น ผู้มีอาชีพนี้จะมีรายได้จากบริษัท หรือองค์กรที่ตนทำงานให้ เรียกว่า เงินเดือน หรือค่าจ้าง (กรณีทำงานเป็นรายวัน)
2) การทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ งานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มักเป็นงานบ้าน หรืองานที่เป็นกิจกรรมในครัวเรือน แต่สามารถชดเชยการสูญเสียรายได้ หากไม่จ้างงานผู้อื่นทำหรือซื้อจากที่อื่น และยักทำให้เกิดความภาคภูมิใจของคนในครอบครัว เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว ได้แก่ พริก ขิง ข่า ตะไคร้ เป็นต้น การทำความสะอาดบ้าน การรีดผ้า การรดน้ำต้นไม้ การล้างจาน การซ่อมแซมเสื้อผ้า หรือของใช้ที่ชำรุด เป็นต้น
3. การใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวัน
แต่ละครอบครัวจะมีค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เรียกว่า รายจ่าย และการใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวันควรคำนึงถึงรายรับของครอบครัว ซึ่งหมายถึง เงินรายได้จากการประกอบอาชีพที่สุจริตของพ่อแม่ ส่วนรายรับของเรา คือ เงินที่พ่อแม่ให้เราเก็บไว้ใช้เมื่อไปโรงเรียน และรายจ่ายของเรา คือ ค่าอาหาร ค่าขนม หรือ ค่าอุปกรณ์การเรียนที่เรานำเงินไปซื้อในโรงเรียนหรือร้านค้า
เงินที่เหลือจากการใช้จ่ายในแต่ละวัน หรือการมียอดเงินที่มีรายจ่ายน้อยกว่ารายรับ เรียกว่า เงินออม หรือ เงินเก็บ ซึ่งสามารถคำนวณเงินออมได้ ดังนี้
รายจ่าย – รายรับ = เงินออม
การที่จะมีเงินออม หรือเก็บไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น หรือไว้รวบรวมซื้อสิ่งของที่จำเป็นสำหรับเรานั้น เราจะต้องรู้จักการวางแผนการใช้จ่าย โดยยึดหลักปฏิบัติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
เศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ
1) ความพอประมาณ คือ ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย เป็นต้น
2) ความมีเหตุผล คือ การตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยใช้หลักเหตุผลพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ เช่น การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ จะต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความคุ้มค่า ประกอบกับคุณภาพและราคา
3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตนเอง คือ การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่คารดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งใกล้และไกล เช่น การออมเพื่อไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็นหรือฉุกเฉิน การติดตามข่าวคราวการขึ้นราคาของเนื้อหมู การติดตามข่าวสารในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
4. ทรัพยากรในชีวิตประจำวันอย่างประหยัด
ทรัพยากร หมายถึง สิ่งที่มีค่า มีคุณภาพ เป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์ หรือความมั่งคั่ง เป็นสิ่งที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งทรัพยากรในทางเศรษฐศาสตร์สามารถแบ่งได้ ดังนี้
1) ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ อากาษ ป่าไม้ แร่ธาตุ เป็นต้น
2) ทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง ความรู้ความสามารถ แรงงานหรือปัญญาของมนุษย์ที่นำมาใช้ผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง
3) ทรัพยากรทุน หมายถึง เครื่องมือเครื่องใช้ สิ่งของ หรือสถานที่ที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ เช่น เครื่องจักร เงินทุน ที่ดิน โรงงาน เป็นต้น
ประเภทของทรัพยากร
ทรัพยากรแบ่งตามความเป็นเจ้าของได้ดังนี้
1) ทรัพยากรส่วนตัว เช่น ดินสอ ยางลบ กระเป๋านักเรียน เป็นต้น
2) ทรัพยากรส่วนรวม เช่น โต๊ะ เก้าอี้นักเรียน สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ ตู้โทรศัพท์ สะพานลอย เป็นต้น
ทรัพยากรบางอย่างใช้แล้วอาจหมดไป ไม่สามารถสร้างทดแทนใหม่ เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ เป็นต้น บางอย่างสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ดิน น้ำ อากาศ เป็นต้น แต่หากสิ่งเหล่านี้ถูกใช้อย่างไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดมลภาวะซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นได้ เราจึงควรใช้อย่างประหยัดและใช้อย่างคุ้มค่า โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างการใช้ทรัพยากรในชีวิตประจำวันอย่างประหยัด
- ตักอาหารแต่พออิ่ม ไม่กินทิ้งกินขว้าง
- ไม่เปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้ขณะล้างจาน
- ซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้ที่ชำรุดให้ใช้งานได้ตามปกติ
- นำกระป๋องที่ใช้แล้วมาประดิษฐ์เป็นกระปุกออมสิน
- ปิดไฟทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งานแล้ว
5. การออม
การออม คือ การนำเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายมาเก็บรวมไว้ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
หากเรารู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงินในแต่ละวัน เราก็จะมีเงินเหลือเก็บออมทุกวัน การออมที่ดีต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทำเป็นประจำจนเป็นนิสัย มีวินัยและมีเป้าหมายว่าจะใช้อะไร เมื่อไรอย่างชัดเจน
หลักการออม
หลักการออมที่เหมาะสม มีดังนี้
1) ออมเงินที่เหลือจากการจ่ายสิ่งที่จำเป็น
2) เก็บเงินที่ออมไว้ให้เป็นที่ เช่น เก็บในกระปุกออมสิน เป็นต้น
3) ควรจดบันทึกจำนวนเงินออม จะได้รู้ว่าเรามีเงินออมมากน้อยเท่าไร
4) ควรเก็บเงินสม่ำเสมอ หรือมีวินัยในการเก็บออม
5) เมื่อมีเงินออมมากขึ้น ควรเอาไปฝากธนาคาร เพราะปลอดภัย และได้ดอกเบี้ย หรือให้มีเงินออมเพิ่มขึ้น
ประโยชน์ของการออม
การออมนอกจากจะทำให้เรามีเงินไว้ใช้ในยามจำเป็นแล้ว การออมยังช่วยฝึกให้เรามีคุณธรรม กล่าวคือ
1) ฝึกให้เรามีความประหยัด รู้ว่าควรใช้จ่ายแต่พอควร ตามความจำเป็น
2) ฝึกให้เรามีความรับผิดชอบ รู้ว่าเมื่อใช้จ่ายเงินก็ต้องเหลือเงินไว้เก็บออม
3) ฝึกให้เรามีความซื่อสัตย์ เมื่อเก็บเงินในกระปุกออมสินแล้วก็ไม่แคะกระปุกเอาเงินมาใช่บ่อย ๆ
4) ฝึกให้เรามีระเบียบวินัย ให้มีนิสัยเป็นคนรู้จักเก็บออมเงินทุกวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น