Download - เนื้อหา
สาระที่ 5 ภูมิศาสตร์
|
1. ทิศ
ทิศ คือ ทางที่กำหนดไว้เพื่อบอกตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นโลก ทิศที่สำคัญมี 4 ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก
ทิศทางที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า คือ ทิศตะวันออก และทิศทางที่ดวงอาทิตย์ตกในตอนเย็น คือ ทิศตะวันตก ฉะนั้น เมื่อเราหันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทางดวงอาทิตย์ขึ้น แล้วกางแขนทั้งสองออก ด้านหลังจะเป็น ทิศตะวันตก ด้านซื้อมือจะเป็น ทิศเหนือ ด้านขวามือจะเป็น ทิศใต้
2. ตำแหน่งที่ตั้ง
ครอบครัว หรือคนที่มีที่ตั้งของบ้านอยู่ใกล้บ้านเรา เรียกว่า เพื่อนบ้าน บ้านหลาย ๆ หลังที่อยู่ใกล้กัน หรือละแวกเดียวกัน เรียกว่า หมู่บ้าน หรือชุมชน ซึ่งแต่ละบ้านจะมีเลขที่บ้านกำกับอยู่ หากเราต้องการรู้ว่าบ้านใครตั้งอยู่ที่ใด เราอาจดูได้จากเลขที่บ้าน ถนน หรือที่ตั้งของสถานที่สำคัญที่เป็นที่รู้จักที่อยู่ใกล้บ้าน เช่น บ้านอยู่ใกล้กับตลาด โรงเรียนตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสถานีตำรวจ บ้านอยู่ทางทิศใต้ของที่ทำการไปรษณีย์ เป็นต้น
3. ระยะทาง
ระยะทาง คือ ช่วงความห่างของเส้นทาง หรือระยะห่างของตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น บ้านอยู่ห่างจากโรงเรียนเป็นระยะทาง 500 เมตร เป็นต้น
การวัดระยะทาง สามารถใช้การก้าวเท้าประมาณการได้ หรือใช้ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ศอก ช่วงแขน เป็นต้น หรืออาจใช้เครื่องวัดระยะทาง เช่น ไม้บรรทัด ตลับเทป ล้อวัดระยะทาง เป็นต้น
4. แผนผัง
แผนผัง คือ ภาพย่อส่วนของสิ่งต่าง ๆ ที่แสดงลงบนกระดาหรือวัสดุแบนราบ ในลักษณะภาพที่มองมาจากที่สูง เพื่อแสดงตำแหน่งของวัตถุหรือสถานที่ต่าง ๆ ลักษณะของแผนผังส่วนใหญ่ มีดังนี้
1) เป็นการย่อส่วนพื้นที่ให้มีขนาดเล็ก เช่น ห้องต่าง ๆ ภายในบ้าน สถานที่ต่าง ๆ ภายในโรงเรียน สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในห้องเรียน ร้านต่าง ๆ ในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
2) มักใช้รูป (สี่เหลี่ยม) หรือสัญลักษณ์ที่เป็นรุปเหมือนแสดงแทนสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในแผนผัง แล้วมีคำอธิบายสัญลักษณ์นั้น หรือระบุชื่อกำกับในสัญลักษณ์ดังกล่าว
3) อาจมีมาตราส่วน หรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีมาตราส่วนจะทำให้เราสามารถคำนวณขนาด หรือสัดส่วนของจริงได้
5. สิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อม หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรม (สามารถจับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (ไม่สามารถจับต้องหรือมองเห็นได้) และอาจเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งนี้ สิ่งแล้อมล้อมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1) สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แบ่งเป็น 1 ประเภท คือ
(1) สิ่งมีชีวิต เป็นพวกที่ต้องการอาหาร อากาศสำหรับหายใจเพื่อการเจริญเติบโต สามารถขยายพันธุ์ หรือสืบพันธุ์และตายได้ ได้แก่ คน สัตว์ และพืช
(2) สิ่งไม่มีชีวิต เป็นพวกที่ไม่ต้องการอาหารและอากาศ ไม่มีการเจริญเติบโต ไม่มีการขยายพันธุ์ หรือสืบพันธุ์ เช่น ดิน น้ำ แสงแดด อากาศ เป็นต้น
2) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น หมายถึง สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ที่เกิดจากการสร้างสรรค์โดยมนุษย์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
(1) สิ่งที่เป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แล้วสามารถจับต้องและมองเห็นได้ เช่น ปากกา ดินสอ ไม้บรรทัด ถนน เขื่อน สะพานลอย เป็นต้น
(2) สิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ไม่สามารถจับต้อง และมองเห็นได้ เช่น ประเพณี ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม เป็นต้น
6. การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศภายในรอบวัน
โดยทั่วไปแล้ว สภาพอากาศในแต่ละวันจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางวันอาจมีลมแรง มีฝนตก เมฆครึ้ม บางวันอาจมีแดดจัด บางวันอากาศหนาวเย็น บางวันก็มีท้องฟ้าโปร่ง แจ่มใส นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในรอบวันก็มีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาต่างกันด้วย ดังนี้
ช่วงเวลา
|
การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในรอบวัน
|
ตอนเช้า
|
อุณหภูมิจะไม่สูงมากนัก สภาพอากาศค่อนข้างเย็นสบาย
|
ตอนเที่ยง – บ่าย
|
อุณหภูมิจะสูงขึ้นกว่าตอนเช้า สภาพอากาศจะค่อนข้างร้อน ถึงร้อนมาก เพราะแดดจัด
|
ตอนเย็น – ตอนกลางคืน
|
อุณหภูมิจะค่อย ๆ ลดลง สภาพอากาศจึงเย็นลงกว่าตอนเที่ยง หรือตอนบ่าย พอตกกลางคืนส่วนใหญ่จะมีอากาศเย็นสบาย
|
จะเห็นได้ว่า สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจึงควรเรียนรู้ถึงสภาพอากาศเพื่อให้รู้เท่าทันและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้ ยกตัวอย่างการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศในรอบวัน
ลักษณะอากาศ
|
การเตรียมตัว หรือการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศ
|
ฝนตก
|
- เมื่อเห็นว่า ท้องฟ้ามืดครึ้ม มีกลุ่มเมฆฝนหนาแน่น เราควรเตรียมร่ม หรือเสื้อกันฝน เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเปียก
|
อากาศหนาว
|
- เมื่ออากาศหนาวเย็น ควรเตรียมเสื้อกันหนาวหรือผ้าห่มไว้เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
|
อากาศร้อน
|
- ควรสวมเสื้อผ้าสบาย ๆ ที่ไม่หนาหรืออึดอัดจนเกินไป
- อาจนั่งเล่นหรือทำกิจกรรมที่อยู่ใต้ร่มไม้ในตอนกลางวัน
- เตรียมน้ำดื่มไว้ให้เพียงพอ เพราะอากาศร้อนจะทำให้เรารู้สึกกระหายน้ำ การดื่มน้ำมาก ๆ ช่วยบรรเทาความร้อนได้
- หากจำเป็นต้องใช้พัดลมหรือหมวกกันความร้อน ก็อาจทำได้ แต่ควรใช้วิธีที่ช่วยประหยัดพลังงานก่อน
|
7. ลักษณะภูมิประเทศที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์
ชุมชนแต่ละแห่ง จะมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ชุชนบางแห่งตั้งอยู่บนภูเขา บางชุมชนอยู่ใกล้ทะเล บางแห่งตั้งบริเวณที่ราบลุ่ม หรือบางชุมชนมีแม่น้ำไหลผ่าน บางชุมชนมีฝนตกชุก หรือบางชุมชนมีอากาศเย็นสบาย เป็นต้น ซึ่งลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนมีผลต่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชนหลายประการ เช่น
· ชุมชนที่อยู่บริเวณที่ราบ ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ประชาชนจะนิยมตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น
· ชุมชนที่อยู่บริเวณที่เป็นภูเขา บริเวณนี้จะมีภูมิอากาศที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงบ่อย จึงทำให้มีผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่น้อย แต่บริเวณนี้เหมาะสำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยว มักประกอบอาชีพหาของป่า
· ชุมชนที่อยู่บริเวณที่เป็นที่ราบสูง หรือที่ราบสูงระหว่างหุบเขา จะมีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ไม่หนาแน่น เพราะการคมนาคมที่ไม่สะดวก มีปัญหาการใช้ที่ดินเพราะขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก
· ชุมชนที่อยู่บริเวณที่เป็นชายฝั่งทะเล ผู้คนค่อนข้างอาศัยอยู่หนาแน่น มักตั้งบ้านเรือนอยู่ริมชายฝั่ง และประกอบอาชีพประมง
8. ลักษณะภูมิอากาศที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์
ลักษณะภูมิอากาศที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์มีหลายประการ ดังนี้
1) การปลูกสร้างบ้านเรือน ภูมิอากาศมีอิทธิพลโดยตรงต่อคนเรา เช่น การปลูกสร้างบ้านเรือน ในเขตที่มีอากาศหนาวจะสร้างบ้านให้แสงอาทิตย์ส่งผ่านเข้าไปได้อย่างทั่วถึง เพื่อเพิ่มความอบอุ่น ส่วนพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน จะสร้างบ้านมีลักษณะโปร่ง มีลมถ่ายเทสะดวก มีหน้าต่างและนอกชานสำหรับรับลมและระบายความร้อน หลังคาบ้านมีลักษณะลาดเท เพื่อป้องกันน้ำขัง
2) การประกอบอาชีพ ลักษณะสภาพภูมิอากาศ เช่น ความชื้น อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน จะมีผลต่อการเจริญเติบโต และความหนาแน่นของพืชพรรณธรรมชาติในพื้นที่นั่น ๆ บางที่จึงนิยมปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ หรือในเขตที่มีอากาศแห้งแล้งจะมีทุ่งหญ้าโปร่งมาก ผู้คนในพื้นที่นั้นจึงนิยมเลี้ยงสัตว์ และทำฟาร์มปศุสัตว์ บางที่ก็อาจปลูกได้เฉพาะพืชพรรณเมืองหนาว เช่น ลูกพีช สตรอว์เบอร์รี่ องุ่น ลูกพลับ เป็นต้น
3) การแต่งกาย อากาศร้อน เป็นผลทำให้มนุษย์ต้องสวมใส่เสื้อสบาย ๆ ไม่อึดอัดรัดตัว มักเป็นเสื้อบาง ๆ มีสีสันสดใส เมื่ออากาศหนาวเย็น ทำให้ต้องสวมเสื้อผ้าหนา ๆ อาจสวมหมวก และใช้ผ้าพันคอด้วย
4) สุขภาพและประสิทธิภาพการทำงาน ถ้าอากาศไม่หนาวหรือร้อนจัดจนเกินไป จะทำให้ผู้คนมีความกระตือรือร้นในการทำงานสูง นอกจากนี้อุณหภูมิและความชื้นของอากาศมีผลต่อสุขภาพคนด้วย เช่น อากาศในเขตร้อนชื้นจะมีเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อมาลาเรีย เชื้อไข้เลือดออก เชื้อวัณโรค เป็นต้น ประชาชนอาจจะติดเนื้อเหล่านั้นได้ง่าย ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย
9. การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัว
สภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวของเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัว มีสาเหตุมาจาก
1) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการกระทำโดยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น การเคลื่อนไหวของเปลือกโลก ภูเขาไฟระเบิด การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ อากาศ พายุ น้ำท่วม เป็นต้น
2) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ มนุษย์สามารถดัดแปลงสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตได้ โดยนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ เช่น การสร้างเขื่อน ทำถนน ขุดคลอง การสร้างบ้านเรือน และการขยายพื้นที่ทำกินให้กว่างขวางออกไป ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น จอกจากนี้ พฤติกรรมที่ขาดจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ยังเป็นเหตุทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง เช่น การทิ้งขยะ การปล่อยควันพิษสู่บรรยากาศ เป็นต้น
10. ผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัว
การใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่รอบคอบ และมีการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมของมนุษย์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัว และเป็นปัญหาต่อมนุษย์เอง ดังนี้
1) ปัญหามลพิษ ที่สำคัญ ได้แก่
(1) มลพิษทางน้ำ เกิดจากการปล่อยน้ำเสียของบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม การทิ้งขยะ หรือสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำ จึงทำให้น้ำสกปรกจนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
(2) มลพิษทางอากาศ เกิดจากการปล่อยฝุ่นละออง หรือก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน
2) ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญ ได้แก่
(1) ดินเสื่อมคุณภาพ เกิดจากการปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับคุณสมบัติของดิน หรือการปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำกันมากเกินไป โดยที่เกษตรกรไม่ฟื้นฟูสภาพดินหลังการใช้ประโยชน์
(2) ป่าไม้ถูกทำลาย เกิดจากการลักลอบตัดไม้ การทำไร่เลื่อนลอย การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้เกิดการชะล้างหน้าดิน น้ำป่าไหลบ่าจนดินถล่ม เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง
(3) สัตว์ป่าลดน้อยลง เกิดจากการที่ป่าถูกทำลาย สัตว์ป่าไม่มีที่อยู่อาศัย และมีการลักลอบล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหารและทำการค้าด้วย
(4) ทรัพยากรชายฝั่งทะเลลดลง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้ง ทำให้สูญเสียแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ หรือการจับปลาโดยใช้ไฟฟ้าชอร์ต ทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ตาย
11. การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ทุกคนทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชนต้องร่วมมือกัน จึงจะประสบผลสำเร็จ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะขอนำเสนอประเด็นสำคัญที่ใช้แก้ปัญหาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ดังนี้
1) ดิน
o ปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ปลูกถั่วสลับกับพืชชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันดินจืด เป็นต้น
o ปลูกพืชคลุมดิน เพื่อป้องกันไม่ให้แร่ธาตุในดินถูกน้ำชะล้างไป
o ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก
o ไม่เผาทำลายซากพืชในพื้นที่เพาะปลูก เพราะเป็นการทำลายหน้าดิน
2) น้ำ
o ใช้น้ำอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ปิดฝักบัวเมื่อถูสบู่ ปิดก๊อกน้ำขณะแปรงฟัน นำน้ำทิ้งจากการซักล้างมาใช้รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
o ไม่ทิ้งขยะ หรือสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำ
o รักษาป่าไม้ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เพราะ ป่าไม้เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร
3) ป่าไม้
o ทุกคนมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าไม้ และปลูกป่าทดแทนพื้นที่ที่ถูกบุกรุก หรือในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
o ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นคุณค่าของต้นไม้
o ดูแลป้องกันป่าสงวนไม่ให้มีการรุกล้ำเข้าไปและไม่ควรเผาป่า
o ใช้ไม้อย่างประหยัด คือ ใช้ไม้ทุกส่วนให้คุ้มค่า
4) สัตว์ป่า
o บำรุงรักษาสภาพป่า เพื่อให้สัตว์ป่าที่มีอยู่
o ไม่ล่าสัตว์ป่า
o กำหนดบทลงโทษอย่างรุนแรงแก่ผู้ที่ล่า และค้าสัตว์ป่า และบุกรุกป่าสงวน หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
12. การจัดระเบียบสิ่งแวดล้อมในบ้านและชั้นเรียน
ในฐานะที่เราเป็นสมาชิกของบ้านและโรงเรียน เราต้องมีส่วนร่วมในการจัดระเบียบแวดล้อมในบ้านและชั้นเรียน เพื่อให้บ้านและชั้นเรียนของเรามีบรรยากาศที่น่าอยู่และเอื้อต่อการเรียนรู้ ดังนี้
1) รู้จักใช้ คือ ใช้ของให้ตรงกับหน้าที่ การใช้ของให้ถูกหน้าที่ จะไม่ทำให้ของเสียหาย ไม่สูญเสีย เช่น เก้าอี้มีไว้นั่ง ไม่เอาไปยืนหรือตั้งสิ่งของ เป็นต้น
2) รู้จักจัดระเบียบ คือ เก็บของให้ถูกที่ ถูกทาง การเก็บของให้ถูกที่ จะทำให้บ้านเรือน หรือห้องเรียนดูเรียบร้อย เช่น เสื้อผ้า เก็บไว้ที่ตู้เสื้อผ้า หนังสือเก็บเข้าตู้หนังสือ เป็นต้น
3) รู้จักรักษา คือ การใช้เป็น เก็บเป็น เรียกว่ารู้จักบริหาร และจัดการที่ดี
หากเราบริหารและจัดการเป็น ก็จะทำให้สภาพแวดล้อมภายในบ้านหรือห้องเรียนสะอาด เรียบร้อย เป็นระเบียบ เมื่อจะใช้ก็สะดวก หาง่าย และไม่เกิดอันตราย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น