วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เตรียมสอบ ป.1- วิชาวิทยาศาสตร์ - บทที่ 3 ชีวิตพืช (สรุปเนื้อหา)

เตรียมสอบ ป.1- วิชาวิทยาศาสตร์ - บทที่ 3 ชีวิตพืช (สรุปเนื้อหา)




บทที่ 3 ชีวิตพืช



สรุปเนื้อหา  




     พืช จัดเป็นสิ่งมีชีวิตเพราะมีคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตเหมือนสัตว์และคน โดยที่พืชมีความต้องการอาหาร และสามารถสร้างอาหารเองได้ด้วยการสังเคราะห์ด้วยแสง จะได้น้ำตาลสำหรับไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของพืช นอกจากนี้ยังมีการหายใจ เจริญเติบโต และสืบพันธุ์ได้
     พืชมีจำนวนมาก มีลักษณะ ขาด ความซับซ้อนของโครงสร้าง และการดำรงชีวิตที่แตกต่าง พืชอาศัยอยู่ทั้งบนบก เช่น มะขาม มะพร้าว มะม่วง กระบองเพชรในน้ำ เช่น บัว ผักตบชวา สาหร่าย
     พืชจะมีรูปร่างและลักษณะที่แตกต่างกัน แต่จะมีส่วนประกอบที่เหมือนกัน คือ ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล และเมล็ด



     ราก
     ราก เป็นส่วนประกอบที่เจริญงอกงามจากเมล็ดลงสู่พื้นดินตามแรงโน้มถ่วงของโลก รากจะไม่มีข้อ ปล้อง ตา และใบ รากของพืช บางครั้งไม่ได้งอกออกจากเมล็ด ซึ่งโดยทั่วไปงอกออกจากลำต้นลงไปในพื้นดิน รากของพืชมีความแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช จำแนกชนิดของรากได้ดังนี้
     1) รากแก้ว เป็นรากที่งอกออกมาจากเมล็ด โคนของรากแก้วมีขนาดใหญ่เรียวไปจนถึงปลายราก พืชใบเลี้ยงคู่ส่วนมากจะมีรากแก้ว รากแก้วเป็นรากที่สำคัญมาก ทำให้ต้นพืชมีอายุอยู่ได้นาน เพราะรากแก้วจะแทงลงในดินได้ลึก ทำให้พืชสามารถยืนต้นโดยไม่ล้มง่าย ด้านข้างของรากแก้ว จะแตกออกเป็นราแขนงจำนวนมากเพื่อดูดซึมน้ำและอาหารในดินไปบำรุงลำต้น กิ่งก้าน และใบ
     2) รากแขนง เป็นรากที่แตกออกมาจากรากแก้ว พบในพืชในเลี้ยงคู่ โดยจะเจริญเติบโตขนานไปกับพื้นดิน สามารถแตกแขนงไปได้เรื่อย ๆ เพื่อดูดซึมอาหารและน้ำในดินส่งไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของพืช รากแขนงในพืชบางชนิดสามารถเก็บสะสมอาหารได้ เช่น รากมันแกว มันเทศ และมันสำปะหลัง
     3) รากฝอย เป็นรากที่มีลักษณะและขนาดโตเท่ากันตั้งแต่โคนจนถึงปลายราก งอกออกจากลำต้น หรือตามข้อของลำต้นเป็นกระจุก พบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น กล้วย อ้อย กระชาย มะพร้าว ตาล ปาล์ม รากฝอยของพืชบางชนิดเก็บสะสมอาหารได้ เช่น กระชาย

     หน้าที่ของราก มีดังนี้
1)   ยึดลำต้นให้ติดกับพื้นดิน
2)  ดูดน้ำและธาตุอาหารจากดินส่งไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของพืช
3)  ในพืชบางชนิดได้เปลี่ยนแปลงรากให้ทำหน้าที่พิเศษ เช่น รากสังเคราะห์ด้วยแสงของกล้วยไม้ รากค้ำจุนของต้นโกงกาง รากเก็บสะสมอาหาร เช่น มันเทศ กระชาย มันสำปะหลัง



ลำต้น
ลำต้น เป็นส่วนที่เจริญอยู่เหนือพื้นดิน มีขนาดรูปร่าง และลักษณะแตกต่างกันไป ลำต้นมีทั้งลำต้นอยู่เหนือดิน เช่น มะละกอ มะม่วง มะนาว ชมพู่ บางชนิด ลำต้นอยู่ใจ้ดินและเก็บสะสมอาหาร เช่น ขิง ข่า ขมิ้น กล้วย เผือก หญ้าแพรก พุทธรักษา แห้ว ลำต้นของพืชแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน เมื่อเจริญเติบโตแตกกิ่งก้านสาขามากมาย มีตั้งแต่พืชล้มลุกที่เลื้อยคลุมดิน เช่น แตงกวา ฟักทอง ผักบุ้ง ต้อยติ่ง เถาวัลย์ต่าง ๆ พืชล้มลุกอายุสั้น เช่น พืชผักสวนครัวพวกผักชี ผักกาด ผักคะน้า พริก กระเพรา โหระพา กะหล่ำปลี หญ้า ข้าวโพด พืชยืนต้น มะม่วง เงาะ ทุเรียน สัก ตะแบก ฝรั่ง มะพร้าว หมาก ตาล ปาล์ม

หน้าที่ของลำต้น มีดังนี้
1)   เป็นแกนช่วยพยุงอวัยวะต่าง ๆ เช่น กิ่ง ใบ ดอก ผล และเมล็ด ช่วยให้ใบกางออกรับแสงแดดเพื่อใช้ในการสร้างอาหาร
2)  เป็นทางลำเลี้ยงน้ำ และแร่ธาตุที่รากดูดขึ้นมาส่งต่อไปยังใบและส่วนต่าง ๆ ของพืช
3)  เป็นทางลำเลียงอาหารที่ใบสร้างขึ้นส่งผ่านลำต้นไปยังรากและส่วนอื่น ๆ


ใบ
ใบ เป็นส่วนที่เจริญงอกออกมาจากข้อของลำต้นและกิ่ง ใบส่วนใหญ่จะมีสารสีเขียนช่วยในการสร้างอาหารเพื่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของพืช ใบของพืชมีลักษณะรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช ใบประกอบด้วย ก้านใบ แผ่นใบ เส้นกลางใบ และเส้นใบ

หน้าที่ของใบ มีดังนี้
1)   ใบของพืชจะมีสารสีเขียวซึ่งทำหน้าที่เก็บพลังงานแสงเอาไว้ เมื่อพืชดูดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปก็จะเกิดกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งจะได้อาหารสำหรับเจริญเติบโต
2)  เป็นบริเวณที่มีการคายน้ำ เพราะที่ใบจะมีปากใบ
3)  ใบของพืชจะหายใจโดยการดูดแก๊สออกซิเจนและคายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
4) ใบทำหน้าที่พิเศษ เช่น ใบเปลี่ยนแปลงไปเป็นมือเกาะ ทำหน้าที่ยึดเกาะทำให้ลำต้นสามารถไต่ขึ้นที่สูงได้ เช่น มะระ พวกแสด ตำลึง ฝักทอง หรือใบเปลี่ยนไปเป็นหนามเพื่อลดการสูญเสียน้ำของพืช เช่นกระบองเพชร

ดอก
ดอก เป็นอวัยวะที่ใช้ในการสืบพันธุ์ของพืช โดยจะมีสีสัน กลิ่น และน้ำหวานที่ช่วยล่อให้แมลงหรือสัตว์มาผสมเกสรให้ เช่น ดอกชบา ดอกเยอร์บีร่า ดอกทานตะวัน ดอกมะลิ ดอกจำปา ดอกกล้วยไม้ ดอกบัว ดอกกระดังงา




ส่วนประกอบของดอก มีดังนี้
1)   กลีบเลี้ยง เป็นส่วนที่มีสีเขียว ทำหน้าที่ห่อหุ้มป้องกันอันตรายให้กับอกขณะตูม
2)  กลีบดอก เป็นส่วนที่มีสีต่าง ๆ สวยงาม เช่น สีแดง เหลือง ชมพู แสด ม่วง ขาว ทำหน้าที่ล่อแมลง
3)  เกสรเพศผู้ อยู่ถัดจากกลีบดอกเข้าไป มีอยู่หลายอัน ทำหน้าที่สร้างละอองเรณูไว้ผสมพันธุ์
4) เกสรเพศเมีย อยู่ในสุด สร้างไข่ไว้ผสมพันธุ์ ซึ่งปลายสุดของเกสรเพศเมียจะมีน้ำหวานเหนียว ๆ สำหรับจับเกสรเพศผู้ที่ติดขาของแมลงที่มากินน้ำหวาน

หน้าที่ของดอก มีดังนี้
1)   ช่วยล่อแมลงให้มาผสมเกสร
2)  ทำหน้าที่ผสมพันธุ์
ผล
ผล คือ ส่วนหนึ่งของพืชที่เกิดจากการผสมเกสรเพศผู้กับเกสรเพศเมีย มีลักษณะรูปร่างแตกต่างกันออกไปตามชนิดของพืช ผลบางชนิดนำมารับประทานเป็นผลไม้ เช่น มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย ขนุน ทุเรียน เงาะ มังคุด แตงโม แตงไทย ผลบางชนิดนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ฟักทอง แตงกวา มะเขือ มะรุม มะระ ผลบางชนิดสามารถนำมาปรุงเป็นยาได้ เช่น ดีปลี มะเกลือ มะแว้งเครือ กระวาน แต่มีผลบางชนิดรับประทานไม่ได้ เช่น ยางพารา สบู่ดำ ผลของพืชทำหน้าที่ในการแพร่พันธุ์

เมล็ด
เมล็ด เป็นอวัยวะที่ใช้ในการแพร่พันธุ์ เกิดจากการผสมพันธุ์ของละอองเรณู และไข่ เกิดเป็นเมล็ดขึ้น ภายในมีต้นอ่อนอยู่ เมื่อหล่นลงดิน จึงงอกเป็นต้นอ่อนเจริญเติบโตต่อไป

ประโยชน์ที่ได้รับจากพืช
ประโยชน์ที่ได้รับจากพืช มีดังนี้
1)   ให้ร่มเงา
2)  ช่วยดูดอากาศเสีย เช่น แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ไปใช้ในการสร้างอาหาร และผลิตแก๊สออกซิเจนออกมา ซึ่งเป็นการลดภาวะโลกร้อน
3)  ช่วยปรับสภาพสิ่งแวดล้อมให้เกิดการสมดุล และป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติ
4) นำมาใช้ในการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ และสร้างบ้านเรือน เช่น ทำเครื่องนุ่งห่ม โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ เตียง ของเล่น
5) นำมาทำเป็นอาหาร เช่น ใบผักกาดหอม กะหล่ำปลี คะน้า ผักกาด ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ดอกโสน ดอกแค มะนาว พริกไทย ฟักทอง ถั่ว งา
6) นำมาใช้ประดับที่ต่าง ๆ เช่น กล้วยไม้ กุหลาบ ดาวเรือง บานชื่น มะลิ สร้อยทอง
7) นำกลิ่นที่สกัดจากดอกมาทำกลิ่นหอมไปใช้ในการทำเครื่องหอม เช่น มะลิ กระดังงา จำปี จำปา







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น